เอ็นเอชเคเวิลด์ เจแปน ของ เอ็นเอชเค

เอ็นเอชเค เวิลด์

เอ็นเอชเคเวิลด์ เจแปน มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทั่วโลก มีความเข้าใจในประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข่าวสารหรือวัฒนธรรมกับนานาชาติ โดยนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนโยบายสำคัญของประเทศ รวมถึงนำเสนอข้อมูลล่าสุดของประเทศ หรือที่เป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวัน และความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางไปทำงาน ท่องเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย[1]

เอ็นเอชเค เวิลด์ เปิดให้บริการจำนวน 2 ช่องโทรทัศน์ แบ่งเป็น ช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศในต่างประเทศ ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ ทีวี ที่มีรายการข่าว รายการสาระ และอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ 90 และ บริการจัดสรรรายการทางโทรทัศน์สำหรับชาวญี่ปุ่นในต่างประเทศ ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ พรีเมียม ที่สามารถเลือกรับชมรายการข่าว รายการสาระ รายการบันเทิง รายการกีฬา รายการละคร รายการศิลปวัฒนธรรม และรายการสำหรับเด็ก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นรายการภาษาญี่ปุ่น, 1 เครือข่ายวิทยุ ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ เรดิโอ เจแปน โดยส่งกระจายเสียงในระบบคลื่นสั้นไปทั่วโลก เป็นภาษาญี่ปุ่น และอีก 17 ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เป็นต้น, และเว็บไซต์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในชื่อ เอ็นเอชเค เวิลด์ อินเทอร์เน็ต ที่นำเนื้อหาข่าวสารและสาระ จากรายการโทรทัศน์ที่หลากหลายของ เอ็นเอชเค เวิลด์ มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อนำเสนอบนอินเทอร์เน็ต[1]

บริการวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2496 เอ็นเอชเค เริ่มเปิดให้บริการกระจายเสียงในภาคภาษาไทย ด้วยระบบคลื่นสั้นจากห้องส่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอรายการข่าว, สาระความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิจารณ์ของทางสถานีฯ, รายการบันเทิง เช่น ดนตรี โดยผู้ฟังสามารถโทรศัพท์เข้าสู่รายการ เพื่อพูดคุยกับผู้จัดรายการ และร่วมสนุกตอบคำถามกับรายการได้ด้วย นอกจากนั้น ทางรายการยังรับจดหมาย ของผู้ฟังชาวไทยและชาวลาว จากทั่วโลกอีกด้วย ต่อมา เอ็นเอชเคเชื่อมสัญญาณให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมส่งกระจายเสียงรายการภาคภาษาไทยของ เอ็นเอชเค โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550[2]

ทั้งนี้ ในส่วนของเวลาและเครือข่ายในการออกอากาศ แบ่งได้เป็น การกระจายเสียงภาคเช้า ระหว่างเวลา 06:00-06:20 น. ออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ความถี่ 13650 และการกระจายเสียงภาคค่ำสองรอบ คือระหว่างเวลา 18:30 น.-19:00 น. ออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ความถี่ 11740 และระหว่างเวลา 19:30 น.-20:00 น. ออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ความถี่ 9695 และทางสถานีวิทยุระบบเอเอ็ม ความถี่ 981 กิโลเฮิร์ตซ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3]